[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
  
 


เนื้อหา : ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝะน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ
หมวดหมู่ : ความรู้เกี่ยวกับ IT
หัวข้อเรื่อง : 3 คำแนะนำ เปลี่ยนพฤติกรรมเสพติดข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย

ศุกร์ ที่ 12 เดือน มีนาคม พ.ศ.2564

คะแนน vote : 2816  

 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความอยากรู้อยากเห็นเรื่องของคนอื่น และการอยากอวดชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกคน ยิ่งในทุกวันนี้ชีวิต เราติดตามชีวิตคนอื่นได้ง่ายขึ้น อวดชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น เพราะการใช้งานโซเชียลมีเดียและอิทธิพลของอินเทอร์เน็ต จนบางคนมีอาการเหมือนป่วยเพราะโซเชียลมีเดียเป็นพิษเลยทีเดียว

อาการลักษณะนี้เรียกว่า FOMO (Fear Of Missing Out) เป็นอาการของผู้ที่มีความกระหายใคร่รู้ว่าโลกนี้เกิดอะไรขึ้นอยู่ตลอดเวลา เรียกง่าย ๆ ก็คือ “กลัวตกกระแส” อาการนี้กลายเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ปกติในทุกวันนี้ ปัจจัยมาจากการที่โซเชียลมีเดียมีเข้ามาครอบงำชีวิตของเรามากจนเกินไป จนนำไปสู่วิถีชีวิตที่แย่ลง สุขภาพจิตแย่ เกิดความเครียด และอีกหลาย ๆ อย่างตามมา

อาการนี้สังเกตง่ายมาก คือคนที่หยิบมือถือขึ้นมาดูตลอดเวลา เพราะรู้สึกเหมือนมีการแจ้งเตือน ทุกครั้งที่จับมือถือเป็นอันต้องไถฟีดเพื่ออัปเดตชีวิตของคนรอบตัว เช็กสตอรีของคนอื่นทุกชั่วโมง มักจะมีสมาธิจิตจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ เพราะเฝ้ารอการแจ้งเตือนต่าง ๆ จะได้มั่นใจว่าจะเปิดขึ้นมาดูได้ทัน และไม่พลาดอะไรที่สำคัญไป รวมถึงการต้องอัปเดตชีวิตของตัวเองลงโซเชียลมีเดียด้วย ถ่ายรูปทุกอย่าง เช็กอินทุกที่ อะไรทำนองนี้

สถิติการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลก เมื่อแบ่งตามภาษาที่ใช้งาน พบว่า “ภาษาไทย” ติดอันดับ 12 ของโลก มีบัญชีผู้ใช้งานอยู่ที่ 55 ล้านบัญชี ส่วนความนิยมในการเล่นทวิตเตอร์ ประเทศไทยติดอันดับที่ 13 ของโลก โดยมีผู้ใช้งานอยู่ 7.5 ล้านบัญชี

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลจาก We Are Social และ Hootsuite ในปี 2020 ยังพบว่าคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก! ระยะเวลาเฉลี่ยการใช้งานอยู่ที่ 5.7 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลาเกือบ 1 ใน 4 ของวันที่คนไทยก้มหน้าหาจอมือถือ ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เห็นว่าคนไทยส่วนหนึ่งเสพติดโซเชียลมีเดียเอย่างมากเลยทีเดียว

แต่อาการเสพติดโซเชียลมีเดียจนถึงขั้น FOMO นี้ มันรุนแรงแทบจะไม่เป็นอันทำอะไร หรือจะเรียกว่าหมกมุ่นก็ไม่ต่างนัก มันส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้สายเกินกว่าที่จะเยียวยาได้ หากได้ผ่านเข้ามาเห็นบทความนี้ ขอให้ลองพิจารณาตนเองว่าติดโซเชียลมีเดียถึงขั้นไหน และรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ ด้วยคำแนะนำง่าย ๆ 3 ข้อ ที่ Tonkit360 นำมาฝาก

เปิดโหมดออฟไลน์ซะ

ในช่วงแรก ๆ อาจจะรู้สึกเหมือนจะลงแดงเลยล่ะ แต่ก็ต้องอดทน ก่อนที่สุขภาพกายสุขภาพจิตตัวเองจะแย่ไปมากกว่านี้ การที่ไม่มีแจ้งเตือนใด ๆ เด้งขึ้นมาที่หน้าจอตลอดเวลา จะช่วยลดความว้าวุ่นกระวนกระวายลงได้มาก จากนั้นลองบริหารเวลาและจำกัดการใช้งานโซเชียลมีเดียของตัวเอง จากที่เช็กฟีดทุก ๆ 10 นาที ขยับเป็นครึ่งชั่วโมง เป็นหนึ่งชั่วโมง และนาน ๆ ครั้ง ให้พอได้รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นทันชาวบ้านเขาบ้าง

เขียนบันทึกด้วยลายมือ

ย้อนกลับไปสมัยที่โทรศัพท์มือถือยังไม่ฉลาดและอเนกประสงค์เท่าทุกวันนี้ และไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย เรายังอยู่กันมาได้ ก็แค่พยายามห้ามมือไม่ให้กดพิมพ์สเตตัส แล้วกลับสู่วิถีดั้งเดิมด้วยการจดบันทึกสิ่งที่คิดด้วยลายมือลงสมุดไดอารีแทน จะขอบคุณสิ่งดี ๆ จะบ่นชีวิต หรือจะนินทาใครได้ก็ตามสะดวก นี่เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่แท้จริง มีเราคนเดียวเท่านั้นที่รู้ ความเครียดก็จะลดลง และลด ละ เลิก พฤติกรรมถ่ายรูปทุกอย่างที่ทำ เช็กอินทุกที่ที่ไป อัปสตอรีถี่จนเป็นจุดไข่ปลา เหมือนกลัวคนอื่นไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่ ก็จะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น

หันไปหาคนข้างกาย

เอาเวลาที่เคยก้มหน้าหาจอมือถือ นิ้วไถฟีด ไปเข้าหาและมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบข้างให้มากขึ้น หาเป็นคนที่สนิทสนมด้วย ก็ลองหากิจกรรมทำร่วมกัน สละเวลาช่วงหนึ่งวางโทรศัพท์ไว้ให้ห่างตัว ก็จะลดเวลาการไถหน้าจอลงไปได้มาก หรือจะลองหางานอดิเรกที่ตัวเองชอบทำดูก็ได้ แต่อย่าปล่อยให้ตัวเองนั่งว่าง ๆ เหงา ๆ ไม่มีอะไรทำในช่วงที่กำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ดขาด เพราะมันคงยากเกินไป

 


เข้าชม : 1956


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      3 คำแนะนำ เปลี่ยนพฤติกรรมเสพติดข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย 12 / มี.ค. / 2564